วันที่ 30 กันยายน 2561 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญให้เก็บภาษีจากบุหรี่เพิ่มอีกซองละ 2 บาท เข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระเงินสนับสนุนจากงบประมาณรัฐปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 2 ตุลาคม นี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก โดยเฉพาะการเก็บเงินสมทบจากบุหรี่ 2 บาท เข้ากองทุนเพียงประเภทเดียว ไม่รวมสินค้าบาปอื่น อย่างสุรา เบียร์ และยาเส้น และหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะกระทบต่อผู้ประกอบการบุหรี่อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการยาสูบแห่งประเทศไทย ที่ตั้งแต่เริ่มใช้อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ก็ทำให้ยอดขายลดจาก 80% เหลือ 60% และมีกำไรเหลือซองละไม่ถึง 1 บาท จากที่เคยได้ซองละ 7 บาท ถ้ามีต้นทุนเพิ่มอีก 2 บาท จะทำให้ขาดทุนทันที
ขณะที่นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีการเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นซองละ 2 บาทจริง ก็จะต้องผลักภาระส่วนนี้ไปให้ผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาขายบุหรี่ เนื่องจากปัจจุบันได้กำไรจากบุหรี่เพียงซองละ 10 สตางค์เท่านั้น ถ้าไม่ปรับราคาก็จะขาดทุน ซึ่งคาดว่าในปี 2561 การยาสูบฯ จะมีกำไรเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จากที่เคยทำกำไรได้ปีละ 9,000 ล้านบาท และมีโอกาสขาดทุนในปี 2562
ด้านรายงานข่าวจากบริษัทนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ ระบุว่า การปรับภาษีบุหรี่ขึ้นซองละ 2 บาท จะทำให้ราคาบุหรี่นำเข้าจากเดิมที่ราคา 60 บาท เพิ่มขึ้นไปถึงซองละ 90 บาท เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างภาษีบุหรี่กำหนดให้บุหรี่ที่ราคาไม่เกิน 60 บาท คิดภาษี 20% และมากกว่า 60 บาท คิดภาษี 40% เพราะฉะนั้น บุหรี่ราคา 60 บาท หากมีการเก็บเพิ่ม 2 บาท จะทำให้ราคาเกินที่กำหนดและต้องเสียภาษี 40% ทันที